เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2016 ประธานาธิบดีโอบามาเขียนบทความแสดงคิดเห็นหน้าตรงข้ามบทบรรณาธิการ (op-ed) ของ CNN ว่าสหรัฐอเมริกาจะส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารในช่วงทศวรรษ 2030s หรืออีกไม่เกิน 20 ปีจากนี้
30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เปิดตัวกองบัญชาการอวกาศสหรัฐ (USSPACECOM) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากองทัพบก เรือ อากาศ อย่างเป็นทางการ
เมื่อไม่กี่วันก่อนยานสำรวจโรเวอร์ Chang'e-4 ของจีนได้รายงานว่าตรวจพบสสารประหลาดที่มีลักษณะคล้ายเจลในด้านมืดของดวงจันทร์ ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีนได้ประสบความสำเร็จในการร่อนลงด้านมืดของดวงจันทร์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมมาตั้งแต่ ปี 2007 แล้ว
และเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบการสื่อสารด้วยการเข้ารหัสควอนตัมตามโครงการ QUESS (Quantum Experiments at Space Scale) บนดาวเทียม "เทียนกง-2" ในปัจจุบันการเข้ารหัสควอนตัมนับเป็นเทคนิคการเข้ารหัสที่แข็งแกร่งที่สุด (ด้วยคุณสมบัติ quantum entanglement) จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถมีเทคโนโลยีใดสามารถเจาะการเข้ารหัสด้วยวิธีนี้ได้ การทดลองครั้งแรกประสบความสำเร็จในการสื่อสารระหว่างสถานีในอุรุมฉี - ปักกิ่งเป็นระยะทางถึง 2,500 กิโลเมตร
อันที่จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หนึ่งในจุดชี้ขาดแพ้-ชนะของสงครามอยู่ที่การเจาะรหัสที่เข้ารหัสด้วยเครื่อง "Enigma" ของนาซีเยอรมัน ในขณะญี่ปุ่นใช้เทคนิคการเข้ารหัสที่ชื่อ "อันโกกิ บี กาต้า" (หรือ "เครื่องเข้ารหัสชนิด B") ทั้งนี้เนื่องจากการสงครามยุคใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคสงครามตั้งแถวทัพประจัญหน้าในสมัยสงครามนโปเลียน โดยเฉพาะเทคนิค "Blitzkrieg" (สงครามสายฟ้าแลบ) ของนาซีเยอรมัน ซึ่งอาศัยการประสานงานของกองทัพอากาศจากการทิ้งระเบิดของลุฟวัฟเฟ่ และกองพลหุ้มเกราะแพนเซอร์เพื่อเคลื่อนย้ายกำลังอย่างรวดเร็วและประสานสอดคล้องกันทั่วทั้งสนามรบ ระบบการสื่อสารที่เข้ารหัสด้วยเครื่อง Enigma จึงเปรียบเสมือนเป็นโครงข่ายใยประสาทของทั้งกองทัพในสมรภูมิและกองบัญชาการในแนวหลัง
เยอรมนีพยายามทดลองเทคนิคนี้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (เทคนิคการทำสงครามของเยอรมันพัฒนาขึ้นมาจากเกมสงคราม Kriegsspiel ตั้งแต่สมัยปรัสเซีย) แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการขับเคลื่อนในยานพาหนะและการขนส่งบำรุงกำลังยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ (แม้จะพยายามชดเชยด้วยการสร้างทางรถไฟทั่วทั้งเขตเยอรมันแล้วก็ตาม) ในที่สุดก็ลงเอยด้วยการขุดคูตั้งค่ายสนามเพลาะ จนยันกันระหว่างทัพสัมพันธมิตร และมหาอำนาจกลาง สนามรบที่นองเลือดที่สุดในขณะนั้นคือ ซอมม์ และแวร์เดิง (อาจมองได้ด้วยว่าวิธีคิดแบบ hegemony และ position warfare ของกรัมชี่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสงครามป้อมค่ายคูสนามเพลาะนั้นล้าสมัยไปแล้ว) อันที่จริงนาซีเยอรมันไม่ได้คาดหวังว่าจะรุกรบชนะฝรั่งเศสภายในเวลาอันสั้นขนาดนั้น การประสบความสำเร็จในการรบ (ที่มีเครื่องเข้ารหัส Enigma เป็นแกนกลาง) อย่างเกินความคาดหมาย ทำให้กองทัพนาซีต้องปล่อยเลยตามเลยจนกระทั่งยึดครองฝรั่งเศสได้ทั้งหมด
แต่ตัว Enigma ก็เป็นเสมือนจุดอ่อนสำคัญดุจเดียวกับข้อเท้าของอคีลลิส เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเจาะรหัสได้ และเก็บไว้เป็นความลับโดยไม่แพร่งพรายถึงขนาดที่ว่าเมื่อรู้ข้อมูลจากการถอดรหัสอยู่ว่ากองเรือขนเสบียงจะถูกโจมตี ก็ต้องปล่อยให้ถูกโจมตีจนลูกเรือเสียชีวิต เพื่อลวงให้กองทัพนาซีเยอรมันเข้าใจผิดว่าเครื่อง Enigma ของตนยังไม่ถูกเจาะรหัส การเจาะรหัสนั้นนำไปสู่แผนการณ์รุกที่นอร์มังดี ในขณะที่การเจาะรหัสฝั่งญี่ปุ่นนำไปสู่การพ่ายแพ้ที่สมรภูมิมิดเวย์และเป็นจุดเปลี่ยนของยุทธภูมิในเขตแปซิฟิคในที่สุด
ดังนั้นนอกเหนือจากความจำเป็น (1) ในทางการทหารที่จะต้องควบคุมการสื่อสาร และเป็นหูตาที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวบนพื้นโลกแล้ว ระบบเศรษฐกิจระหว่างโลก-อวกาศ จะค่อย ๆ เริ่มก่อตัวขึ้น ทั้งจาก (2) การทำเหมืองแร่ธาตุหายากในเขตวงแหวนดาวเคราะห์น้อยที่โคจรระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส อย่างน้อยการนำขยะพิษจากโลกมนุษย์ไปทิ้งบนอวกาศ และการขนแร่ธาตุจากอวกาศกลับมาบนพื้นโลกจะเกิดขึ้น ทั้งนี้รวมผลพลอยได้จาก (3) ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ ธุรกิจทั้งสามประการนี้เองจะค่อย ๆ เริ่มสร้างอุตสาหกรรมอวกาศขึ้น และจะเริ่มมีการพูดคุยและสร้างระเบียบและข้อตกลงทางกฎหมายนานาชาติในอวกาศ ดังคำของ คาร์ล ชมิตต์ -- Nomos และเมื่อนั้นจะเกิด "อวกาศรัฐศาสตร์" (astropolitics) ขึ้นมาซ้อนทับกับ "ภูมิรัฐศาสตร์" (geopolitics) ในปัจจุบันมีวารสารวิชาการที่สร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง "อวกาศรัฐศาสตร์" ของ Taylor & Francis ซึ่งเริ่มฉบับแรกตั้งแต่ปี 2003 ออกต่อเนื่องเป็นฉบับรายปีกันทุกปี จนถึงปีปัจจุบันนับเป็นฉบับที่ 17
ด้วยเหตุนี้ในอนาคตกรอบวิเคราะห์ "ภูมิรัฐศาสตร์" หรือ geopolitics แบบเดิมจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานอีกต่อไป เพราะจะมีโดเมนใหม่ขยายและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาจากโดเมนเดิม คือภาค พื้นดิน-ทะเล-อากาศ ตามปกติ และที่สำคัญ "การครอบงำจิตใจ" (noopolitik) จะยังมีโดเมนใหม่คือ "อวกาศรัฐศาสตร์" หรือ astropolitics นี้เพิ่มเติมขึ้นมา การวิเคราะห์แบบใหม่จะต้องครอบคลุมโดเมนเหล่านี้ และที่อาจจะมีเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้ทั้งหมด -- เราอาจจะเรียกลำลองกรอบการวิเคราะห์แบบนี้เอาไว้พลางก่อนว่า "อภิภูมิรัฐศาสตร์" (meta-geopolitics)
ภาพยนตร์เรื่อง Ad Astra นี้ แสดงให้เห็นความจริงอย่างจริงที่สุด ถึงเทคโนโลยีอวกาศเท่าที่ขีดความสามารถของมนุษย์ในปัจจุบันจะทำได้ การท่องเที่ยวระหว่างโลกกับดวงจันทร์ สถานีอวกาศในด้านมืดของดวงจันทร์ ในปี 1959 สหรัฐเคยมีความคิดตั้งฐานทัพบนดวงจันทร์ในชื่อ Project Horizon มาแล้ว หนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพ "ไร้ขื่อไร้แป" บนด้านมืดของดวงจันทร์ได้อย่างสมจริงทีเดียว ทั้งยังไม่ลืมพูดถึงสภาพการใช้ชีวิตและจิตใจแบบชายแดน ในการสำรวจอวกาศของโครงการลิมาในแถบวงโคจรของดาวเนปจูนเพื่อให้พ้นเขตอิทธิพลของปรากฎการณ์ heliosphere
เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะจริงของจริง คำตอบที่ได้ในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญานอกโลกจึงต่างออกไปจากข้อสรุปในภาพยนตร์เรื่อง interstellar ทั้งยังไม่มี "กล่องดำ" อย่าง "Tesseract" อย่างที่ interstellar มี (แม้จะมีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีอยู่ก็ตาม)
นิยายไซไฟที่ดูจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในอนาคตอย่าง The Three-Body Problem ของนักเขียนไซไฟจีนชื่อก้องอย่าง Liu Cixin เสนอข้อสรุปเพื่อแก้ปัญหา fermi-paradox เรื่องสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก ว่าถ้ามีอยู่จริงทำไมเราจึงไม่เคยพบหรือติดต่อได้เลย ไปอีกแบบ (นักปรัชญาเยอรมันอย่าง อิมมานูเอล ค้านท์ เป็นคนเสนอปัญหาเรื่อง The Three-Body Problem เป็นคนแรก)
เนื่องจากลักษณะ "จริงของจริง" ของหนังเรื่องนี้จึงทำให้ดูไม่สุขสมประทับใจอย่างที่ interstellar เสนอ ความจริง interstellar พยายามสอดแทรกด้านมืดของมนุษย์ที่ทำเพื่อเอาตัวรอดเข้ามาด้วย แต่ Ad Astra ทำได้อย่างเข้มข้นและมากยิ่งกว่า จนกระทั่งดูแห้งแล้งและชวนมองโลกในแง่ลบไป ความที่ Ad Astra พยายามสื่อสารที่จำเพาะเป็นพิเศษ จึงทำให้ต้องเก็บมาครุ่นคิดหลังภาพยนตร์จบ ทำให้ได้ข้อสรุปไกล้เคียงกับสิ่งที่เฮเกลพูดโดยยืมมาจากบทละครของเช็คสเปียร์ในโรมิโอและจูเลียตที่ว่า ถึงที่สุดแล้วเราจะไว้ใจกันได้หรือไม่ การที่เราจะไว้ใจใครสักคนหนึ่งจะทำให้เราสูญเสียตัวตนของเราไปแล้วเราจะยอมรับมันได้จริงหรือ “My bounty is as boundless as the sea, My love as deep; the more I give to thee, The more I have”
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ให้ภาพอนาคตยุคบุกเบิกและตั้งอาณานิคมในอวกาศที่กำลังใกล้ปรากฎเป็นจริงขึ้นอย่างมากแล้วเป็นอย่างดี อุตสาหกรรมอวกาศในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่ว่า Deep Space Industries (DSI) สตาร์ตอัพอุตสาหกรรมอวกาศชื่อดังถูกเทคโอเวอร์ไปโดย Bradford Space เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานี้เอง.
เครดิตภาพ: NASA (composite image by Jcpag2012) ใน wikimedia commons
Comments