Cookie Consent by Free Privacy Policy Generator website เกรต้า ทุนเบิร์ก กับสิ่งที่บางทีเธออาจจะยังไม่ทราบ "CONOP 8888"
top of page
Search
  • Writer's pictureGeopolitics.Λsia

เกรต้า ทุนเบิร์ก กับสิ่งที่บางทีเธออาจจะยังไม่ทราบ "CONOP 8888"

Updated: Oct 11, 2019

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมาเกรต้า ทุนเบิร์ก เด็กสาววัย 16 ปี ออกมากล่าวปาฐกถาที่เวทีสหประชาชาติ ภาพที่เธอจ้องด้วยสายตาอันคมกริบ แสดงถึงอารมณ์กรุ่นแน่นในอกไปยังประธานาธิบดีทรัมป์ที่เดินผ่านหน้าเธอไป ถูกทวิตผ่านแอคเค้านท์ของเดอะการ์เดี้ยน และถูกรีทวิตตามไปนับล้านครั้ง คำที่เธอกล่าวบนเวทีราวกับระบายบริภาษไปที่ทรัมป์โดยตรง





"ผู้คนกำลังทนทุกข์ ผู้คนกำลังตาย ระบบนิเวศทั้งปวงกำลังล่มสลาย เรากำลังก้าวไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณทำอยู่นั้นหรือก็คือเรื่องเงินตรา และเทพนิยายเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สิ้นสุด คุณกล้าดียังไง!"

หลังจากการประท้วงเรื่องสภาวะภูมิอากาศที่หน้ารัฐสภาสวีเดนเมื่อปีกลาย เธอกลายเป็นแอคติวิสท์ที่เริ่มรณรงค์เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในชื่อ "วันศุกร์เพื่ออนาคต" (Fridays for Future) และได้รับความสนใจเข้าร่วมในกว่า 270 เมืองจากทั่วโลก ตัวเธอเองตัดสินใจและขอให้ครอบครัวเธอใช้ชีวิตเพื่อลด "รอยเท้าคาร์บอน" (carbon footprint) อาทิเช่น ไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน และไม่รับประทานเนื้อสัตว์


แต่ตัวตนที่แท้จริงเรื่องสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กลับมาจากปัจจัยที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะปัจจัยนั้นคือ "ตัวมนุษยชาติ" เอง!


ปัจจุบันประชากรโลกมีจำนวนราว 7.8 พันล้านคน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันวิจัย PEW ได้ออกรายงานคาดการณ์อนาคตประชากรโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า ว่าโลกจะมีผู้คนอาศัยอยู่ราวเกือบ 1 หมื่น 1 พันล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 4 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2100


ถ้าขนาดประชากรโลกในปัจจุบันผลิตของเสียและมลภาวะออกมาจนแทบบริหารจัดการไม่ได้ แล้วโลกจะรับมือกับการเพิ่มขึ้นของประชากรอีก 4 พันล้านคนได้อย่างไรในอนาคต การผลิตมลภาวะ การผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความต้องการบริโภคของโลกจะมีเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวในอีก 80 ปีข้างหน้า (หลังจากนั้นเราจะประสบประชากรหดตัว เพราะอัตราการมีบุตรต่อครอบครัวลดลง ซึ่งก็มีปัญหาไปอีกแบบ)


ความจริงเรื่องการขยายขนาดของประชากรโลก (หรือบางทีเรียกว่า "Overpopulation") จนไม่สามารถรับมือได้นั้น Club of Rome ซึ่งถือเป็น Think tank ระดับอีลีตของโลกเคยออกโรงเตือนเรื่องนี้มาก่อน (นักวิเคราะห์บางราย และทฤษฎีสมคบคิดหลายสำนักมองว่า Club of Rome เป็นองค์กรฉากหน้าของอีลีตที่กุมอำนาจสูงสุดของโลก และมีความเชื่อมโยงกับ "Black Nobility" ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวาติกัน)


เมื่อปี ค.ศ. 1972 ทาง Club of Rome ได้ออกรายงานที่ใช้สถิติในชื่อ "ขีดจำกัดของการเติบโต" หรือ The Limits to Growth (LTG) พยากรณ์ว่า การขยายขนาดของประชากรโลกอย่างก้าวกระโดดจะทำให้ทรัพยากรจำเป็น (อย่างน้ำมัน) ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ ขีดจำกัดนี้จะมาถึงในปี ค.ศ. 2072 และขีดจำกัดนี้จะแสดงออกในลักษณะของ ปริมาณที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก และ ราคาที่จะถีบตัวสูงขึ้นเนื่องจากความขาดแคลนจากผลผลิตทรัพยากรที่โลกสามารถสร้างขึ้นได้ในห้วงเวลาในแต่ละขณะ แล้วหลังจากนั้นทรัพยากรจะเริ่มหมดไป ปริมาณการผลิตจะหดตัวลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า "peak oil"


รายงานนี้เองเป็นที่มาของนโยบายการควบคุมประชากร อย่างการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย การวางแผนครอบครัว หรือแม้กระทั่งนโยบายลูกคนเดียวของจีนที่ผ่านมานั่นเอง


แต่ในความเป็นจริงต่อให้ไม่มีนโยบายเหล่านี้ขนาดการเติบโตของประชากรโลกก็จะลดลงอยู่ดี เพราะวิถีชีวิตแบบครอบครัวอณูที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ไม่ได้มีลักษณะครอบครัวที่มีขนาดใหญ่แบบสมัยยุคก่อนอุตสาหกรรมในอดีต การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งโลก ยิ่งเศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้า แนบชิดกับโลกาภิวัฒน์มากเท่าใดแนวโน้มนี้ก็จะเป็นมากขึ้นเท่านั้น


แต่ถึงอย่างนั้น "โมเมนตัม" การเจริญเติบโตของประชากรโลกก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนของประเทศอย่างจีน อินเดีย และในทวีปอาฟริกา "โมเมนตัม" นี้เองจะผลักดันให้ขนาดประชากรโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจนเหยียบ 1 หมื่น 1 พันล้านคน ในอีก 80 ข้างหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้



แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) จากมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation


วิธีการแก้ไข "อย่างถึงราก" มีอยู่สองวิธี คือ (1) ชะลอหรือเปลี่ยนลักษณะการบริโภคของมนุษยชาติให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แผนนี้ถูกบรรจุเอาไว้ในเป้า SDGs ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ และความจริงผู้อยู่เบื้องหลังรายงานนี้คือ Club of Rome นั่นเอง (ระบุเอาไว้ในรายงาน "transformation is possible") และ (2) เปลี่ยนแปลงลักษณะอุตสาหกรรมของโลกให้ผลิตอย่างเท่าที่จำเป็น และตามความต้องการทันทีในขณะนั้น ไม่ใช่ผลิตเผื่อการสต็อกและสำรองผ่านระบบโลจิสติคมหาศาลอย่างในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบบเดิม และใช้ลักษณะอุตสาหกรรมหมุนเวียนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด (circular economy) ตัวตั้งตัวตีที่สำคัญคือมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation แต่ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ไม่ผลิตรอยเท้าคาร์บอนจะต้องเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ทั้งรถไฟฟ้า และการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ (การผลิตไฟฟ้าควรมาจากเศรษฐกิจไฮโดรเจน และนิวเคลียร์แบบฟิวชั่น)


หากล้มเหลวการเปลี่ยนแปลงลักษณะอุตสาหกรรมและการบริโภคของมนุษยชาติแล้ว "ธรรมชาติ" จะปรับตัวของมันเอง ดังคำพยากรณ์ "4 จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก" (The Four Horsemen of the Apocalypse) อันได้แก่ ความตาย ความอดอยาก สงคราม และ การพิชิตชัยในสงคราม


เรื่องสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผู้นำน้อยคนที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และถึงที่สุดแล้วก็ต้องคำนึงถึงแรงกดดันทั้งจากการเมืองภายใน และการเมืองระหว่างประเทศ

เพราะหากข้อเสนอ "ถึงราก" ทั้งสองประการข้างต้นล้มเหลวลงแล้ว ในสภาวะที่มีการบริโภคทรัพยากรอย่างปัจจุบันโลกจะไม่สามารถแบกรับจำนวนประชากรขนาดนี้ได้อีกต่อไป ขนาดประชากรโลกที่เหมาะสมควรจะมี 3-4 พันล้านคนเท่านั้น


คำถามคือ แล้วประเทศไหนจะยินยอมลดประชากรของตนเอง ต่อให้สมมติว่ายินยอมแล้ว"ประชาชน" ส่วนที่เกินมานั้นจะยินยอม "ลดตัวเอง" ตามคำแนะนำของรัฐบาลลงไปด้วยไหม สมมติประมาณการของ PEW ถูกต้อง นั่นหมายความว่าในปี ค.ศ. 2100 คนจำนวน 8 พันล้านคน ต้องยินยอม "ลดตัวเอง" ลง ในความหมายที่ตรงกว่าคือต้อง "ยอมตาย" เพื่อให้คนอีก 3-4 พันล้านที่เหลือรอดชีวิต และได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างปกติสุข คำถามคือใครจะยอมตาย? ต่อให้ถ้ายอมแล้วกระบวนการเลือกให้คนตาย จะทำอย่างไร? สุ่มชิงโชค? นี่ยังไม่นับถึงความชอบธรรมว่าประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาทั้งที่อยู่ในเอเชียและอาฟริกาที่จะต้องดิ้นรนไขว่คว้าแสวงหาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และในช่วงที่ต้องพัฒนาระดับเศรษฐกิจให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่เราเห็นมาแล้วในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 60 หรือในจีนในปัจจุบัน คำถามคือจะให้ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้น ไม่ต้องพัฒนาเติบโตต่อ แล้วให้ประเทศพัฒนาแล้วได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย บนความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบนี้ แล้วประท้วงโลกร้อนต่อไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นหรือ?


ถ้าจะพูดจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทรัมป์พูดก็นับว่าตรงไปตรงมาทีเดียว สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือเรื่องโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นทุกคนต่างหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง


เมื่อถึงขีดสุดหากโลกรับมือไม่ไหว แต่ละประเทศต่างก็เอาตัวรอด โลกจะกลับมาสู่ยุค แต่ละประเทศเพื่อตนเอง และทำสงครามกัน อาวุธสงครามที่ใช้รับมือก็ไม่พ้น อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี และอาวุธนิวเคลียร์ อำนาจนำที่เป็นรัฎฐาธิปัตย์ (sovereignty) ที่มีลักษณะเด็ดขาด ดุร้าย อย่าง Leviathan นั่นเอง จะเป็นตัวชี้ขาดว่าการแก้ปัญหานั้นจะเป็นอย่างไร และคงไม่น่าโอภาปราศรัยนัก เพราะอาจมีการวางแผนลดจำนวนประชากรโลกให้ลดลงอยู่ในระดับที่โลกพอรองรับได้ ในระหว่างที่ทำสงครามไป เป็นผลพลอยได้ตามไปด้วย แล้วเมื่อบรรลุเป้าประสงค์แอบแฝงนั้นแล้วสันติภาพจึงจะคืนกลับมาอีกครั้ง


แม้ในหลายประเทศและสหรัฐอเมริกาจะมีข้อตกลงไม่ทดลองอาวุธชีวภาพ แต่อาวุธชีวภาพก็ยังคงถูกเก็บสำรองไว้อยู่

แผนปฏิบัติการ CONOP 8888 หรือแผนการรับมือซอมบี้ Counter-Zombie Dominance ถูกนำมาใช้ซ้อมรับมือในสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจัง มีการจัดแบ่งซอมบี้ออกเป็นหลายชนิด นอกจากนี้ WHO ยังมีแผนการรับมือกับ Disease X หรือโรคระบาดร้ายแรงที่ไม่ทราบมาก่อน

แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่ เกรต้า ทุนเบิร์ก ออกมาพูดไม่ได้ไร้ความหมายอะไรเลย แต่จะทำให้โลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงและแสวงหาการรับมือ รวมทั้งที่สำคัญจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่พลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ ถือเป็นคำเตือนท้าย ๆ ก่อนเราจะไปถึงจุดที่ไม่อาจย้อนคืนได้อีก


เรื่องนี้ต้องการทั้ง ปัจจัยดึง และปัจจัยผลัก เกรต้าทำหน้าที่ของเธอในการทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความจำเป็นถือเป็นปัจจัยผลัก แต่ปัจจัยดึง ยังคงอยู่ที่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีแรงจูงใจให้นักธุรกิจยอมคิดค้นนวัตกรรมที่ก้าวหน้า และนักลงทุนยินยอมใส่เงินลงทุนต่อไป การสร้างระบบเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ.

----


ติดตามการพูดคุย เรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร ในงานเสวนา "The importance of Intellectual Property Rights for progress" ในเรื่องสุดล้ำที่เจาะลึกกว่า และเข้าฟังข้อเสนอนโยบายที่มีผลต่อเศรษฐกิจบนฐานความรู้ต่อประเทศอาเซียน รวมไปถึงนัยต่ออภิภูมิรัฐศาสตร์ (กล่าวปาฐกถานำโดย คุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ในวันที่ 2 ตุลาคม นี้ 8.30 - 12.00 ที่โรงแรมคอนราด รับจำนวนจำกัด

โปรดลงทะเบียนเพื่อรับบัตรผ่านโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://www.eventpop.me/e/6786-asean-ipr-for-progress


เครดิตภาพ: FB Greta Thunberg

0 comments
bottom of page