Cookie Consent by Free Privacy Policy Generator website
top of page
Search
Writer's pictureGeopolitics.Λsia

ทำไมต้องเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

Updated: Mar 14, 2020

๏ สุวรรณหงษ์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงษ์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม -- บทเห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร




สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นชินกับ "มหาภารตะ" มากเท่ากับ "รามายณะ" แต่สำหรับอินเดียแล้ว โดยเฉพาะ "ภควัทคีตา" อันเป็นโศลกบทหนึ่งในมหาภารตะ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทน "จิตวิญญาณของอินเดียสมัยใหม่" อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ดังจะเห็นได้จาก "ภควัทคีตาสาร" (แก่นแห่งภควัทคีตา) ซึ่งเป็นตัวบทภาษาฮินดี ถอดความบางส่วนออกมาจาก ภควัทคีตามจำนวนความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในทางตอนเหนือและตอนกลางของอินเดีย


ตัวอย่างของข้อความในภควัทคีตาสาร เช่น "จงพลีถวายทุกสิ่งที่ท่านกระทำให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการกระทำเช่นนี้ท่านจะประสบความเบิกบานยินดีแห่งการปล่อยวางเสมอ"


ปัญหาคือ เนื้อหาในภควัทคีตานี่แหละ ที่ผิดแผกไปจากจารีตเดิมของศาสนาพราหมณ์ ทั้งยังมีความย้อนแย้งกับข้อเสนอหลักในการทำสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรของกฤษณะที่มีต่ออรชุน นักวิชาการบางรายกลับเห็นว่า (Peter Della Santina, "Conceptions of Dharma in the Sramanical and Brahmanical Tradition: Buddhism and the Mahabharata") ภควัทคีตาเป็นการนำเอาหลักคิดทางพุทธศาสนามาด้วยซ้ำ


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต) ไปไกลยิ่งกว่าด้วยการระบุว่า ศาสนาพราหมณ์ที่ปฏิรูปตนเองไปเป็นฮินดูเมื่อหลังพุทธกาลแล้วนั้น "กลืนพุทธศาสนา" ทั้งในทางหลักคำสอนและในทางสังคม โดยท่านได้ระบุไว้เลยว่า ธรรมบทคาถาที่ ๒๒๓ (อยู่ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗ เรื่อง อุตตราอุบาสิกา [๑๗๖]) คือ อกฺโกเธน ชิเน โกธํ ฯเปฯ - พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ฯลฯ ถูก "ลอก" ไปอยู่ในอุทโยคบรรพในมหาภารตะ เพียงแต่เปลี่ยนจากบาลีเป็นสันสกฤต ทั้งนี้ตัวบทที่เป็น "ตำรา" ที่สมบูรณ์ภควัทคีตาเกิดขึ้นหลังพุทธกาล ๖๐๐ - ๗๐๐ ปี และภายหลังถูกนำไปรวมไว้ในมหาภารตะ ซึ่งก็เกิดขึ้นหลังพุทธกาลเช่นกัน


นอกจากเรื่องการคัดลอกนี้แล้ว ในปี พ.ศ. ๑๒๔๓ ศังกราจารย์ผู้เป็นฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระศิวะ) ก็ยังได้อิทธิพลแนวคิดเรื่อง "ศูนยตา" และการแบ่งสัจธรรมเป็นสองระดับ คือ โวหารสัจจะ (ในทางพุทธจะเรียก สมมติสัจจะ) และปรมัตถสัจจะ มาจากนาคารชุน ซึ่งเป็นปราชญ์แห่งพุทธนิกายมหายาน ศังกราจารย์นั้นพยายาม "ล้มล้าง" พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่โดยเรียกพระพุทธศาสนาว่า "ลัทธิไวนาศิกะ" (ลัทธิที่ก่อความพินาศ) โดยระบุว่าพระพุทธเจ้าสอนธรรมด้วยโทสะเพื่อทำให้ประชาชนหลงผิด ในขณะที่พวกไวษณพ (นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์) บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ เพื่อมาหลอกคนของอสูรให้เข้าใจหลักธรรมที่ผิด - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้อ้างคำของ Arnold J. Toynbee (อ้างใน Joshi) ว่าศังกราจารย์ผู้นี้ปล้นสะดมทางปัญญา (philosophical plunder) "ศาสนาฮินดูฉกฉวยขโมยพุทธปรัชญาที่แก่หง่อมแล้วไป ก็เพื่อเอามาเป็นอาวุธ ที่จะขับไล่คู่แข่งทางปรัชญา ออกไปเสียจากถิ่นกำเนิดร่วมกันในสิทธุโลก"


เรื่องที่น่าสังเกตก็คือ ประเด็นการวิพากษ์อิทธิพลฮินดูในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ท่านพุทธทาสเคยวิจารณ์เรื่องนี้มาก่อนแล้วใน "ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์" แต่ในหนังสือเล่มนั้นท่านระบุบทบาทของ "พระพุทธโฆษาจารย์" (นามนี้มิได้หมายถึงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จของท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต แต่หมายถึงพระพุทธโฆสะ ซึ่งเป็นพระคันถรจนาจารย์เถรวาทซึ่งมีชีวิตอยู่ราวพุทธศตรรษที่ ๑๐) ซึ่งสอนปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่าเป็นการตายแล้วเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ หรือ "อธิบายปฏิจจสมุปบาทที่เป็นพุทธแท้ ๆ ให้กลายเป็นฮินดูหรือเป็นพราหมณ์ไป คือกลายเป็นคร่อม 3 ชาติ กลายเป็นมีอัตตาไป ... ก็แปลว่าพุทธศาสนาหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้ว ในประเทศอินเดีย คือได้ไปผนวกเป็นศาสนาพราหมณ์ที่มีอาตมันเสียแล้ว"


...


เมื่อลองคิดในกรอบแบบ authorship ว่า ด้วย backdrop แบบไหนที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ (พูดอีกอย่าง พระพุทธเจ้าท่าน "คิด" หรือ "พูด" ไอเดียแบบพุทธศาสนาขึ้นมาได้ในบริบทแบบไหน) แล้วเมื่อเกิดพุทธศาสนาขึ้นมา แล้วประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มันส่งผลย้อนกลับมายังศาสนาพราหมณ์ซึ่งจะกลายเป็นฮินดูไปหลังพุทธกาลนั้นได้อย่างไร แล้วก็สะท้อนย้อนกลับมายังพุทธอีกครั้งในปัจจุบันได้อย่างไร (พูดง่าย ๆ สองศาสนานี้ผลัดกัน "เขียน" ซึ่งกันและกัน โดยผลัดกันมีแต่ละฝ่ายเป็น backdrop ซึ่งกันและกันด้วย)


อินเดียในสมัยก่อนจนถึงพุทธกาล แบ่งออกได้เป็น ๗ ยุคคือ ยุคก่อนอารยัน, ยุคอารยันเข้าอินเดีย, ยุคฤคเวท, ยุคเวทต่าง ๆ, ยุคพราหมณะ, ยุคอุปนิษัท และยุคพุทธกาล


ในช่วงที่พวกอารยันเข้ามาปกครองชมพูทวีปนี้เอง พวกอารยันก็ฉวยเอาคนพื้นเมืองลงเป็นทาส เพื่อคงระบบทาสนี้ไว้พวกนักคิดของอารยันจึงคิดระบบวรรณะขึ้น คือวรรณะพราหมณ์ (ปราชญ์) วรรณะกษัตริย์ (กษัตริย์ นักรบ) วรรณะแพศย์ (พ่อค้า) และ วรรณะศูทร สามวรรณะแรกจะสงวนไว้ให้กับชาวอารยัน ส่วนวรรณะศูทรก็คือชนพื้นเมืองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ คนนอกวรรณะจะถูกจัดไว้ต่ำกว่าพวกศูทรคือจัณฑาล


ต่อมาพวกอารยันก็เริ่มจัดระเบียบ "ความคิดในทางศาสนา" ให้เป็นระบบ แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ยุคพระเวท ในยุคนี้เองพวกอารยันนับถือเทพเจ้าสามกลุ่มคือ (๑) เทพบนพื้นโลก ได้แก่ พระปฤถวี พระอัคนี พระยม พระพฤหัสบดี เป็นต้น (๒) เทพในอากาศ ได้แก่ พระอินทร์ พระมารุต พระวายุ เป็นต้น และ (๓) เทพบนสวรรค์ ได้แก่ พระวรุณ พระอาทิตย์ เทพีอุษา เทพราตรี เป็นต้น เทพที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดก็คือ พระอินทร์ (เทพแห่งสงคราม) พระวรุณ (เทพแห่งการเกษตร) และพฤหัสบดี (เทพแห่งวิชาความรู้)


หลังจากยุคพระเวทก็เข้าสู่ยุคพราหมณะ ยุคนี้ถือพิธีกรรมและวรรณะพราหมณ์เป็นใหญ่ เริ่มมีการยกย่องพระนารายณ์ และพระศิวะเสมอพระพรหม ที่ต้องสร้างเทพพวกนี้ขึ้นมาใหม่เพราะ เทพเก่า ๆ อย่างพระอินทร์มีลักษณะหลงในทางกิเลสอย่างพวกมนุษย์ก็เสื่อมความนิยมลง



ครั้นต่อมาเข้าในยุคอุปนิษัท ก็มีการละทิ้งเทพในลักษณะปุคคลาธิษฐาน มีการมองอย่าง "ความคิด" หรือ abstract มากขึ้น แล้วมองว่าสิ่งสูงสุดนี้คืออะไร (ปฐมเหตุ ปรมอัตตา บรมอัตตา หรือ ปรมาตมัน) ยุคนี้เองที่มีนักคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางพวกก็ถึงกับปฏิเสธ "พระเวท" ดั้งเดิมด้วยซ้ำ ยุคนี้เองที่เป็นบริบทที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา และประกาศศาสนาพุทธซึ่งเป็นอิสระจากแนวคิดเก่า ๆ ของศาสนาพราหมณ์ขึ้น ข้อที่น่าสังเกตคือเมื่อมองสิ่งสูงสุดในเชิงนามธรรมแบบนี้ก็กลับมาหา "พระพรหม" ใหม่ในฐานะผู้สร้าง ซึ่งบางคนตีความว่า พระพรหม กับ พรหมัน หรือปรมาตมัน นี้เป็นคนละอย่างกัน แต่ที่แน่ ๆ พระพรหมในยุคอุปนิษัทนี้ก็มีคนละความหมายกับยุคก่อนหน้า รวมถึงยุคหลัง ซึ่งจะเล่าต่อไปข้างหน้า


ศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการมาจากยุคพราหมณะก็มาเข้าสู่ยุคที่ ๓ ซึ่งเป็นยุคสมัยอุปนิษัทใกล้พุทธกาล ประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ปี เมื่อชาวอินเดียมีความเป็นอยู่แน่นอนลงไปแล้ว ทุกคนก็เริ่ม ฉุกคิดค้นหาความจริงในชีวิต คือเห็นว่าลำพังการบูชาบวงสรวงด้วยวิธียัญญกรรมต่าง ๆ อย่างที่เคยประพฤติมานั้น ไม่สู้จะได้ผลอะไรแต่อย่างใด ไม่สามารถทำบุคคลให้พ้นทุกข์ได้ ทำจิตใจให้สบายได้ นอกจากว่าเป็นการปลอบใจ หรือว่าเป็นการบำรุงขวัญชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ไม่สามารถจะเอาชนะทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด
เพราะฉะนั้น จึงมีพวกที่ต้องการแสวงหาความจริงพวกหนึ่ง หลีกเร้นปลีกวิเวกออกไปตาม ป่าเขาลำเนาไพร แล้วก็พยายามใช้ปัญญาของตนขบคิดหาความจริงว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน ซึ่งนักคิดที่จะตอบปัญหาเหล่านี้ เมื่อขบคิดไปก็พบข้อคิดจริงบางอย่างบางประการที่พวกเขาพบเข้าจึงได้รวบรวมขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่งให้ชื่อว่า "อุปนิษัท"
คำว่า "อุปนิษัท" นั้นหมายความว่า นั่งเข้ามาตีวงใกล้ ๆ หรือนั่งเข้ามาฟังใกล้ ๆ เพราะว่าพวกฤาษีชีไพรที่ไปขบคิดปัญหาทางปรัชญาทางชีวิตพวกนี้ สมัยโบราณไม่มีเครื่องขยายเสียงไมค์โครโฟน ถ้าไม่เข้ามาตีวงใกล้ ๆ กับอาจารย์ ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าอาจารย์พูดอะไร สมัยที่ปรัชญาอุปนิษัทเกิดขึ้นเป็นยุคที่ใกล้กับพุทธกาลแล้ว เป็นยุคที่นักคิดชาวอินเดียเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ผูกพัน กับระบบประเพณีดั้งเดิม ซึ่งสมัยพระเวทถ่ายทอดกันมา เพราะฉะนั้น จึงมีนักคิดอิสระที่มีความคิดแหวกแนวออกไปจากระบบประเพณีดั้งเดิมของพระเวทออกไป (อ้างอิง ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จากพระมหาสมศักดิ์ ญาณโพโธ)

ปัญหาหนึ่งของคำอธิบายของศาสนาพราหมณ์ก็คือ เพราะไม่มีศาสดาที่ชัดเจน ใครที่มีความรู้ มีศักดิ์ฐานะพอก็ตั้งตัวเป็นปราชญ์อธิบายขึ้นมา และขึ้นอยู่กับความนิยมของคนในสังคมว่าจะเชื่อหรือไม่ ถ้ามีคนเชื่อถือมากพอก็แตกออกไปเป็นนิยายต่าง ๆ มองในแง่นี้ ศาสนาพุทธ ก็เป็นศาสนาพราหมณ์ในยุคอุปนิษัทนั่นแหละแบบหนึ่ง เพียงแต่มีศาสดาที่เข้มแข็งมาก มีวิธีคิดที่เป็นระบบสมบูรณ์ และมีการจัดตั้งองค์กรที่แข็งแรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องรออีกสองร้อยปีข้างหน้าหลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจึงจะได้รับการสนับสนุนจากพลังทางการเมืองให้กลายมาเป็นศาสนาหลักคู่กับรัฐไป แต่เพราะการที่พุทธไม่ได้แตกหักจากพราหมณ์จริง (แต่มีการปฏิเสธการบูชายัญ หรือการสวดอ้อนวอน หลักการสำคัญมากอันหนึ่งของพุทธจึงเป็น วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ไม่ใช่เพราะสวดอ้อนวอนพระเจ้า) สังเกตได้จากการสืบทอดความเชื่อเรื่องพรหมให้อยู่ในระบบความเชื่อแบบพุทธ เช่นพรหมวิหารธรรม หรือ พรหมภูมิ หรือ พรหมโลก หรือแม้แต่การระบุว่า พ่อแม่เป็นพรหมของลูก (พฺรฺมาติ มาตาปิตโร)

เรื่องที่น่าสังเกตต่อไปคือ ถึงแม้ว่าในทางพุทธจะยกย่อง "พรหม" เอาไว้มาก แต่ในอินเดีย กลับมีผู้นับถือพระพรหมอยู่น้อย มีศาลของพระพรหมน้อยกว่าศาลพระศิวะ หรือศาลพระนารายณ์





เรื่องนี้ก็คงเป็นเพราะในช่วงหลังพุทธกาลที่เมื่อพุทธศาสนาได้รับความนิยมสูงมาก ศาสนาพราหมณ์ก็มีการปรับตัว ทั้งวิพากษ์ ทั้งรับเอา ความเชื่อแบบพุทธเข้ามาปรับกระบวนทัศน์ของตนเองจนเปลี่ยนไปมากทีเดียว จนกลายเป็นฮินดู หนึ่งในนั้นก็คือการเกิดขึ้นของภควัทคีตา ดังที่ได้เล่าไปข้างต้นแล้ว รวมถึงการแตกความเชื่อของฮินดูเองออกเป็นสาย คือสายนับถือพระนารายณ์ สายนี้ก็จะเขียนตำนานว่าพระพรหมเกิดขึ้นบนดอกบัวที่เกิดจากสะดือของพระนารายณ์ และพระพุทธเจ้าก็เป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ (ในวิษณุปุราณะ ซึ่งแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ. ๙๔๓ - ๑๐๔๓) การที่พระพรหมเกิดจากพระนารายณ์นี้ก็แสดงถึงสถานะที่ด้อยลงของพระพรหมเมื่อเทียบกับพระนารายณ์ ในขณะที่สายที่นับถือพระศิวะก็มีการแต่งคัมภีร์ว่า พระศิวะใช้ฤทธิ์ในการทำให้ใบหน้าหนึ่งของพระพรหมหายไปจากเดิมมีห้าหน้าก็เหลือเพียงสี่หน้า นี่ก็แสดงถึงการลดสถานะของพระพรหมเช่นกัน บางตำนานก็ว่ามีการสาปแช่งพระพรหมไม่ให้ได้รับการบูชา เพราะมีพวกอสูรไปขอพรจนได้รับความเดือดร้อนเพราะไปอาละวาดในสวรรค์หลังได้รับพรบ้าง





เคาฑปาทะ, บรมครูของปรัชญาเวทานตะ เป็นอาจารย์ของโควินทปาทาจารย์ ผู้เป็นอาจารย์ของศังกราจารย์ เจ้าลัทธิอไทฺวตเวทานฺต อีกทอดหนึ่ง เคาฑปาทะมีผลงานสำคัญคือ "เคาฑปาทการิกา" หรือ "อาคมศาสฺตฺร" ที่เป็นบทอธิบาย "มาณฺฑุกฺย-อุปนิษทฺ" (เป็นอุปนิษทฺที่ได้ชื่อตามครูผู้สอนที่ชื่อ "มาณฺฑูกฺ")


โศลก ๑๑ - ๒๓ กล่าวอธิบายเรื่องโลกในทางจิตวิทยาว่า มี ๔ โลกคือ

(๑) วิศฺว External Appearance (विश्व / वैश्वानर Vishwa/Vaishwanara) (โลกในสภาวะตื่น แทนด้วยตัวอักษร "อ")

(๒) ไตชส Soul (तैजस Taijasa) (โลกในสภาวะหลับฝัน แทนด้วยตัวอักษร "อุ") ทั้งสองโลกนี้ถูกพันธนาการด้วยเหตุและผล

(๓) ปฺรชฺญ Inner Witness (प्राज्ञ Prajna) (โลกในสภาวะหลับสนิท ไม่ฝัน แทนด้วยตัวอักษร "ม") โลกทั้งสามอยู่ในตัวเรา และอาตมันก็อยู่ในโลกทั้งสาม แทนด้วยพยางค์ อ-อุ-ม (โอมฺ ॐ หรือ ปฺรณว प्रणव) มีลักษณะไร้เสียงและมีเสียงต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้สภาวะความเป็นคู่หมดลง

(๔) นำไปสู่โลกสูงสุดที่เรียกว่า ตูรีย 'transcendent Fourth' (तुरीय Turiya) (โลกที่เป็นสภาวะหลุดพ้น) ไม่พันธนาการด้วยเหตุและผลหรืออะไรเลย (ไม่มีผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต) เป็นสภาวะแห่งการรู้แจ้ง การไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีการเกิด ไม่มีการหลับ ไม่มีการฝัน ไม่มีทั้งผู้ฝันและสิ่งที่ถูกฝัน (ไม่มีภาวะความเป็นคู่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมายา) โลกปรากฎการณ์ (ปฺรปญฺจ) หากเคยมีอยู่ก็สูญหายไป มีแต่สภาวะหนึ่งเดียว และที่กล่าวว่า ปฺรณว หรือสภาวะที่เป็น พฺรหฺมนฺ นั้น ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด เพราะปฺรณวนั้นเอง เป็นทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง (การคงอยู่หรือดำเนินไป) และบั้นปลายของทุกสิ่งทุกอย่าง


นี่คือรหัสนัยพรหมสี่หน้า


ในขณะที่เคาฑปาทะได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา นำความรับรู้เข้าใจนั้นกลับมาทบทวนพระเวทและอุปนิษัททั้งหลายซึ่งจะส่งผลต่อการปรับตัวของฮินดูอย่างมากในเวลาต่อมา พุทธศาสนาเองก็เคยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มาก่อน พุทธศาสนาไม่ดำเนินรอยตามพระเวท แต่ได้นำเอาแนวคิดต่อไปนี้จากอุปนิษัท : เรื่องเอกภาวะ เรื่องสัจจภาวะ ทฤษฎีเรื่องกฺษณ (ขณะ) ของโลกวัตถุ ทฤษฎีเรื่องกรรม ทฤษฎีเรื่องอวิทฺยาเป็นรากเหง้าแห่งการทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องการหลุดพ้นไปสู่นิรฺวาณด้วยปัญญา


ในบรรดาอุปนิษัทจำนวนมากกว่า ๒๓๐ ชุดนั้น มี ๘ อุปนิษัทดั้งเดิมที่มีอายุ ๘๐๐ - ๗๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือ ๓๕๐ - ๒๕๐ ปีก่อนพุทธกาล อุปนิษัทดั้งเดิมเหล่านี้บางทีก็เรียกว่า "มุขยะอุปนิษัท" (อุปนิษัทหลัก) และพราหมณ์มักจะถือว่ามุขยะอุปนิษัทเหล่านี้เป็น "ศรุติ" หรือ "ถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้า" ดังนั้นจึงหมายความว่ามีผลต่อไอเดียของพุทธศาสนาด้วย คือ ๑. อีศาวาสฺย-อุปนิษัท "ผู้ปกครองภายใน" (ศูกล ยชุรเวท) ๒. เกน-อุปนิษัท "ใครย้ายโลก" (สามเวท) ๓. กฐ-อุปนิษัท "ความตายเป็นครู" (กฤษณะ ยชุรเวท) ๔. ไตตฺติรีย-อุปนิษัท "จากอาหาร สู่ปีติ" (กฤษณะ ยชุรเวท) ๕. ไอตเรย-อุปนิษัท "ตัวตนและอาตมันของมนุษย์" (ฤคเวท) ๖. ฉานฺโทคฺย-อุปนิษัท "บทเพลงและการสังเวย" (สามเวท) ๗. พฺฤหทารณฺยก-อุปนิษัท (ศูกล ยชุรเวท) ๘. เกาษีตกิพฺราหฺมณ-อุปนิษัท (ฤคเวท)


นอกเหนือจากมุขยะอุปนิษัททั้งแปดนี้แล้ว บางตำรายังเพิ่มอีกสองอุปนิษัทต่อไปนี้คือปรัสนะ (ลมหายใจของชีวิต จากอาถรรพเวท) และมุณฑกะ (การรับรู้สองอย่าง จากอาถรรพเวท) แล้วแทนเกาษีตกิพฺราหพฺมณด้วยมาณฺฑุกฺย (จิตสำนึกและช่วงต่าง จากอาถรรพเวท) จึงทำให้มีอุปนิษัทดั้งเดิมรวมเป็นสิบชุดซึ่งการจัดแบ่งเช่นนี้จะเรียกว่าทโศปนิษัท (อุปนิษัททั้งสิบ) ส่วนคำว่า "มายา" (माया) ไม่ปรากฎในอุปนิษัทรุ่นแรกอย่างพฺฤหทารณฺยก-อุปนิษัท หรือ ฉานฺโทคฺย-อุปนิษัท แต่ปรากฎในเศฺวตาศฺวัตร-อุปนิษัท ซึ่งเป็นรุ่นหลัง ทำให้ศังกราจารย์และรามานุชาจารย์นำไปตีความในปรัชญาเวทานตะ


[verse 19-22] ( 19 ) When there is the desire to state that Viśva has A-ness, the common quality [ viz. ] being the first [would be] prominent; and for the equating of [ Visva ] with the [ syllabic ] portion [ A in Aum ], the common quality of pervading, itself [ would be prominent].
( 20 ) As regards the knowledge of Taijasa being possessed of U-ness [ the common quality ] superiority [ or posteriority ] is distinctly seen ; for the equating of [ Taijasa with ] the [ syllabic ] portion [ U in Aum ] [ the common quality I the nature of being both, could be of the same type [ that is, is distinctly seen ].
( 21 ) As regards Prājña possessing the state of M, the common quality, the measure [ by which the remaining two are measured is ] prominent ; for the equating of [ Prājña with ] the [ syllabic ] portion [ M in Aum ] on the other hand, the common quality, merging, itself [ is prominent ].
(22) When one [or, he who has become], firm [in his realisation of the truth ] knows the equal common quality in the three abodes, he, the great sage, [ is ] worthy of worship, and adorable by all beings.

บริบทเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากการเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย แล้วภายหลังก็ถูกทำลายลงจากการที่มหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผา ในสมัยนั้นในสุวรรณภูมิซึ่งกำลังเพิ่งจะเริ่มเกิดสุโขทัยขึ้น ก็รับเอาความเชื่อเหล่านี้มาพร้อม ๆ กัน ทั้งพุทธแบบเถรวาท หรือจะเรียกว่าพราหมณ์สายอุปนิษัทที่ถูกปฏิรูปไปแล้วก็ได้ (รับมาอีกครั้งผ่านลังกา) พุทธแบบมหายาน (สร้างพระอวโลกิเตศวร และ พระอมิตาภะ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าถึงคนได้ง่าย ในทำนองเดียวกับที่พวกฮินดูที่สร้างพระเจ้าที่เข้าถึงคนได้ง่าย และการสร้างตำนานอย่างมหาภารตะและรามายณะขึ้นมา ทำให้ฮินดูเริ่มกลับมาได้รับความนิยมใหม่) ฮินดูสายที่ถือพระศิวะ ฮินดูสายที่ถือพระนารายณ์ ฮินดูสายที่ถือศักติ เป็นต้น

น่าสังเกตว่าในสุวรรณภูมิรวมไปถึงสยามนั้น กษัตริย์มีสถานภาพเทพสมมติเทียบกับ เทพที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียแทบทั้งหมดที่กล่าวมา สังเกตได้จากโองการแช่งน้ำ โดยจะเรียกพระพรหมว่า "ขุนหงส์ทองเกล้าสี่" (พระสุพรรณหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม พระพรหมจึงได้อีกชื่อว่า หงสรถ หรือหงสวาหน)


ในด้านหนึ่งตัวหงส์เองก็หมายถึงสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะหมายถึง "อาตมัน" (หรือวิญญาณ) ตามคติหงสาอุปนิษัท (โปรดดูตัวบทแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี่) ทั้งนี้หงสาอุปนิษัทเป็นส่วนหนึ่งของศุกลยุชรเวท (หรือยุชรเวทขาว ซึ่งตรงข้ามกับกฤษณยุชรเวท หรือยุชรเวทดำ) สำหรับผู้ฝึกฝนศาสตรา (ความรู้) จนถึงที่สุดจะเรียกว่า "ปรมาหงสา" นั้นหมายถึงผู้นั้นจะเข้าใจใน "อหงฺสา" คำนี้มีที่มาจากคำว่า "อหงฺ" หรือ "อหัง" เป็นคำเดียวกับคำว่า "อหังการ" หรือ "ตัวข้า" หมายถึงปัจเจกวิญญาณ ในขณะที่ "สา" หมายถึง "ตัวท่าน" (โปรดดูเทียบกับคำเก่า: ไหว้สา) หรือ "ปรมาตมัน" หรือจิตสูงสุด ดังนั้น อหงฺสา จึงหมายถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของ อาตมัน และ ปรมาตมัน ซึ่งสะท้อนถึงหลักการของการไม่แบ่งแยกเป็นสอง อไทฺวตะเวทานตะ หรือคือการบรรลุโมกษะ (โปรดดูเพิ่มเติม: มายาการ)


ในช่วงที่อินเดียเคลื่อนไหวเพื่ออิสระภาพจากอังกฤษ อินเดียก็เกิดขบวนการใหม่ ๆ ขึ้นอาทิเช่น พราหโมสมาช (Brahmo Samaj) จัดตั้งขึ้นที่กัลกัตตาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ โดยเทเพนทรนาถ ฐากุร หลักการสำคัญของสมาคมคือเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียวที่เรียกว่าพรหม ไม่นับถือเทวรูปหรืออวตารใด ๆ หลักการส่วนใหญ่ก็นำมาจากอุปนิษัทและภควัตคีตา (ขบวนการนี้เกิดขึ้นควบคู่กับขบวนการสรรโวทัยของมหาตมา คานธี)


ลักษณะความเชื่อเรื่องพระเจ้าของฮินดูในยุคใหม่ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของพราหโมสมาช ที่กลับมาเชื่อมั่นในพระพรหมใหม่นั้น อาจจะเห็นได้จากผลงานหลายชิ้นของ รพินทรนาถ ฐากุร ซึ่งเป็นบุตรชายของเทพเพนทรนาถ โดยเฉพาะผลงานในเพลงชาติของเขา ที่ชื่อว่า "ชนะ คณะ มนะ"


บทเพลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงจินตภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับศาสนาสมัยใหม่อื่น ๆ ที่นับถือพระเจ้า ซึ่งเปลี่ยนไปจากฮินดูสมัยก่อนการเคลื่อนไหวอิสรภาพ ดังแสดงให้เห็นอย่างไพเราะจากเนื้อเพลงข้างล่างนี้




พระผู้เป็นนายเหนือจิตใจปวงชนจงมีชัย พระผู้ลิขิตชะตาแห่งภารตวรรษ (ประเทศอินเดีย) ปัญจาบ สินธุ คุชราต มราฐา (มหาราษฏระ) ทราวิฑ (อินเดียใต้) อุตกัล (โอริสสา) พังคะ (เบงกอล) เขาวินธัย เขาหิมาลัย แม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา คลื่นชลธีอันซัดสาดเป็นระลอกน้อยใหญ่ ตื่นขึ้นมาสดับศุภนามของพระองค์ วอนขอพรประเสริฐจากพระองค์ ขับขานชัยคาถาของพระองค์ พระผู้ประทานสวัสดิมงคลแก่ปวงชนจงมีชัย พระผู้ลิขิตชะตาแห่งภารตวรรษ จงมีชัย จงมีชัย จงมีชัย ชโย ชโย ชโย จงมีชัย

พระพรหมก็ได้เดินทางจาก การเป็นบุคคลาธิษฐาน สู่หนึ่งในสามเทพที่มีสถานะเทียบเท่ากันในยุคเวท สู่ยุคนามธรรมในยุคอุปนิษัท สู่ยุคตกต่ำในยุคหลังพุทธกาล และกลับมาสู่สถานะสูงส่งอีกครั้งในอินเดียยุคใหม่นี้ (สิ่งที่น่าสังเกตคือการปฏิรูปแบบนี้ นอกจากเข้ากับศาสนาสากลก็ยังเข้ากับการค้นพบและคำถามทางวิทยาศาสตร์ ที่สงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุของการกำเนิดจักรวาล -- คำถามปฐมเหตุ)


คำถามสำคัญคือ ในสถานภาพที่เปลี่ยนไปของความเชื่อของฮินดูนี้ จะยังส่งผลประการใดหรือไม่ต่อสถานภาพของพุทธ ที่ยังคงมีความคิดไม่เปลี่ยนไปจากยุคอุปนิษัทมากนักในสุวรรณภูมิและสยามในยุคใหม่?

==== ภาพประกอบ (๑) โขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (๒) พระพรหม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เทคนิคสีน้ำมัน ขนาด ๔๖.๒ x ๖๑.๒ เซ็นติเมตร ของจักรพันธุ์ โปษยกฤต)

0 comments

Comments


bottom of page